อยากทำงานภาคใต้ 5 อาชีพเรียนแล้วไม่ตกงานแน่นนอน

  • 06 ก.ย. 2562
  • 2970

เรียนอย่างไร ให้ได้งานที่ภาคใต้ 5 สายงานที่มีความต้องการมากที่สุดในภาคใต้ 2019 หากศึกษาเพื่อต่อยอดการศึกษา ควรเลือกสายงานที่เป็นที่ต้องการของผู้ประกอบการในพื้นที่ จบแล้วมีงานทำ แถมได้อยู่บ้านอีกด้วย

ตลาดแรงงานในภาคใต้ขณะนี้มีการจ้างงานของธุรกิจส่วนใหญ่ทรงตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน สอดคล้องกับการชะลอตัวของการขยายกิจการ ทั้งนี้ผู้ประกอบการพยายามลดต้นทุนด้านแรงงานด้วยการมอบหมายงานที่หลากหลายและเพิ่มความชำนาญแก่แรงงานมากกว่าหนึ่งทักษะโดยเฉพาะกลุ่มงานด้านบริการ สำหรับภาคอุตสาหกรรมและภาคการก่อสร้างมีการนำเครื่องจักรและระบบ Automationมาปรับใช้เพื่อลดความต้องการด้านแรงงานและเพิ่มประสิทธิภาพ ทั้งนี้แม้ธุรกิจส่วนใหญ่ไม่มีนโยบายรับแรงงานเพิ่มเพื่อทดแทนส่วนที่ขาดไป แต่จะเน้นจ้างแรงงานที่มีทักษะสามารถใช้เทคโนโลยีทำสื่อประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทาง Social Media หรือสามารถประยุกต์ใช้ Shopping Online Platform เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น แต่ภาคใต้เป็นภาคที่มีรายได้จากเกษตรและท่องเที่ยวเป็นหลัก แม้ประสบสภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ธุรกิจในหลายส่วนยังมีการเปลี่ยนผัน อาชีพที่ยังต้องการบุคลากรในสายงาน ได้แก่

 

ด้าน วิศวกร / ช่างซ่อมบำรุงเครื่องกลทางการเกษตร

ภาคใต้เป็นแหล่งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ด้านการแปรรูปสินค้าทางการเกษตรทั้งยางพารา และปาล์มน้ำมัน โดยเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศซึ่งขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 4.0 จากการผลิตน้ำมันปาล์มดิบที่ขยายตัวสูงต่อเนื่องตามปริมาณผลปาล์มที่เพิ่มขึ้นมาก ด้านการผลิตถุงมือยางขยายตัวดีตามความต้องการของตลาดจีนและสหรัฐอเมริกา ประกอบกับการผลิตไม้ยางพาราแปรรูป และผลิตภัณฑ์ขยายตัวตามการผลิตและส่งออกไฟเบอร์บอร์ดไปยังตลาดตะวันออกกลาง อย่างไรก็ดี การผลิตยางพาราแปรรูปหดตัว จากสินค้าน้ำยางข้น และยางผสมสารเคมี ซึ่งได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้มีความต้องการช่างซ่อมบำรุงเครื่องกลทางการเกษตร 55,112 คน แต่มีกำลังผลิตเพียง 23,340 คน ยังขาดแคลนอีก 19,725 คน ซึ่งอาชีพที่ใช้ความชำนาญเกี่ยวกับเครื่องกลขั้นสูง เช่น วิศวกร ช่างเทคนิค

 

 

ด้าน ท่องเที่ยวและบริการ

แน่นอนว่าภาคใต้มีทั้งแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่สวยงามหลายแห่งทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวหมู่เกาะและชายหาดที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ อีกทั้งแหล่งท่องเที่ยวทางบกที่เป็นสิ่งก่อสร้างทางประวัติศาสตร์และอารยธรรมกระจายอยู่ทั่วภูมิภาค อีกทั้งแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองในภาคใต้ได้ถึง 805,166 คน เป็นผลจากจำนวนนักท่องเที่ยวมาเลเซียและจีนที่ปรับดีขึ้น ส่วนหนึ่งได้รับผลดีจากการเปิดเส้นทางการบินใหม่จากจีนได้แก่ เมืองซีอาน กุ้ยหยาง และชิงเต่ามายังภูเก็ต สำหรับนักท่องเที่ยวอินเดียยังคงขยายตัวดีต่อเนื่องตามการเปิดเส้นทางบินใหม่มายังภูเก็ตและการยกเลิกค่าธรรมเนียม Visa on Arrival ทำให้มีความต้องการบุคลากรด้านท่องเที่ยวและบริการ 51,454 คน แต่มีกำลังผลิตเพียง 18,655 คน ยังขาดแคลนอีก 32,799 คน ซึ่งอาชีพในสาขาท่องเที่ยวแตกแขนงไปได้หลายอย่างเช่น ผู้จัดการโรงแรม พนักงานฝ่ายต้อนรับ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ เจ้าหน้าที่แผนกครัว/เครื่องดื่ม บาร์เทนเดอร์/เชฟ พนักงานบริการบนเรือสำราญ เจ้าหน้าที่ประสานงานและดูแลลูกค้า ไกด์หรือมัคคุเทศก์ ล่ามแปลภาษา เป็นต้น

 

 

ด้าน โลจิสติกส์และขนส่ง

เนื่องจากภาคใต้เป็นประตูการค้าชายแดนเชื่อมโยงกับประเทศมาเลเซียผ่านด่านชายแดนทั้ง 9 แห่ง ซึ่งมีมูลค่าการค้าสูงที่สุดของประเทศ โดยมีโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงกับภาคกลางและภาคตะวันออก ซึ่งเชื่อมโยงด่านชายแดนเมียนมาร์ในจังหวัดระนองที่สามารถเชื่อมโยงกับเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย และกลุ่มประเทศ BIMSTEC ทำให้มีความต้องการบุคลากรด้านโลจิสติกส์และขนส่ง 44,772 คน แต่มีกำลังผลิตเพียง 25,047 คน ยังขาดแคลนอีก 19,725 คน สายอาชีพที่เกี่ยวข้องได้แก่ ฝ่ายจัดซื้อ ฝ่ายผลิต ฝ่ายจัดส่งและคลังสินค้า ฝ่ายซัพพลายเชนและโลจิสติกส์ ฝ่ายการขนส่ง นักวิเคราะห์ด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน นักวางแผนวัตถุดิบ การผลิตหรือการกระจายสินค้า เป็นต้น

 

 

ด้าน อุตสาหกรรมการผลิต

การเพาะเลี้ยงกุ้ง, สัตว์น้ำชายฝั่งและโคเนื้อของภาคใต้มีศักยภาพเอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตอาหารทะเลและโคเนื้อคุณภาพสูงให้ได้มาตรฐานสากล แม้ราคากุ้งขาวหดตัวตามปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ด้านผลผลิตขยายตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน โดยขยายตัวดีในทุกสินค้าหลักสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ ทำให้มีความต้องการบุคลากรด้านอุตสาหกรรมการผลิต 25,793 คน แต่มีกำลังผลิตเพียง 11,435 คน ยังขาดแคลนอีก 14,358 คน

 

 

ด้าน เทคโนโลยีการแปรรูปอาหาร

เราเป็นแหล่งเพาะปลูกไม้ผลเมืองร้อน เช่น เงาะ มะพร้าว ทุเรียน มังคุด และกล้วยหอมทอง เป็นต้น ทั้งยังมีพื้นที่ราบลุ่มน้ำปากพนังและทะเลสาบสงขลาเป็นแหล่งปลูกข้าวของภาค มีความพร้อมที่จะพัฒนาเพื่อยกระดับการผลิตให้เป็นสินค้ามูลค่าสูงและได้มาตรฐานการส่งออก ทำให้มีความต้องการบุคลากรด้านเทคโนโลยีการแปรรูปอาหาร(Food Science)ถึง 15,557 คน แต่มีกำลังผลิตเพียง 3,635 คน ยังขาดแคลนอีก 11,922 คน เช่น นักวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์(R&D) นักวิทยาศาสตร์อาหาร นักควบคุมงานฝ่ายผลิต,ประกันคุณภาพ(QC/QA), ตรวจโรงงาน ฝ่ายระบบคุณภาพ(QS) ฝ่ายจัดซื้อเพื่อหาวัตถุดิบมาใช้ในการผลิตอาหาร นักขายวัตถุดิบให้กับโรงงานผลิตอาหารหรือขายอาหารให้แก่ร้านค้าต่างๆ เป็นต้น

 

 

ในอนาคตแม้เทคโนโลยีจะมีบทบาทมากขึ้นในทุกสายงาน แต่เชื่อว่าบุคลากรที่พัฒนาทักษะสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานที่แม้รับเพิ่มในอัตราที่น้อยลง แต่เน้นคุณภาพแรงงานที่มีหลายทักษะ สามารถทำได้หลายอย่างมากขึ้น ทำให้สามารถเอาตัวรอดในสายอาชีพตนเองได้ และเนื่องด้วยอัตราการก่อสร้าง จ้างงานทั้งสายอุตสาหกรรมการผลิต สายงานบริการ สายงานการเกษตรแม้ไม่มีนโยบายปรับลดลง โดยขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุตสาหกรรม รวมทั้งภาคเอกชนได้หารือร่วมกันเพื่อปรับหลักเกณฑ์การเรียนการสอนให้นักศึกษาใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการในตลาดแรงงานอย่างแท้จริง หวังว่าในอนาคตนักศึกษาจะเลือกทำงานหรือกลับมาทำงานในภูมิลำเนามากขึ้น

 

สมัครงานภาคใต้(คลิก)

คลิกค้นหาและสมัครงานในภาคใต้ (เปิดรับทุกตำแหน่งงาน) 

ข่าวโดย : สำนักงานภาคใต้

หางานตามสาขาอาชีพ

JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved

jobbkk มีเพียงเว็บเดียวเท่านั้น ไม่มีเว็บเครือข่าย โปรดอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้าง และหากผู้ใดแอบอ้าง ไม่ว่าทาง Email, โทรศัพท์, SMS หรือทางใดก็ตาม จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด DBD

Top